สอบ ก.พ.66 ใบรับรองผลการสอบ ก.พ. ใช้ยื่น ‘สมัครงาน’ อาชีพไหนได้บ้าง

สอบ ก.พ.66

สอบ ก.พ. 66 ได้เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2566 แล้ว โดยเมื่อวานนี้ (14 มิ.ย.) เป็นวันประกาศสนามสอบทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้สมัครสอบเตรียมเช็กสถานที่สอบของตนเองให้พร้อม ก่อนจะถึงวันสอบจริงในวันที่ 2 ก.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นการสอบ ก.พ. แบบใช้ชุดสอบกระดาษ (Paper & Pencil) เท่านั้น ส่วนการสอบแบบ e-Exam (ออนไลน์) เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ 30 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา 

สำหรับใครที่ยังสงสัยว่าทำไมการสอบ ก.พ. ของแต่ละปี จึงเป็นฤดูกาลแห่งการสอบที่คึกคักและมีผู้คนให้ความสนใจล้นหลาม แล้วถ้าสอบผ่านจะสามารถเอาผลสอบไปยื่นสมัครงานอะไรได้บ้าง? กรุงเทพธุรกิจ ชวนหาคำตอบที่นี่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

1. สอบ ก.พ. คืออะไร? สอบไปทำไม?

การสอบ ก.พ. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.พ. (OCSC) หรือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ซึ่งเป็นองค์การที่ดูแลด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน มีหน้าที่ในการส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี รวมถึงร่วมพัฒนาระบบการบริหารกำลังคนในราชการให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

การสอบ ก.พ. จึงเป็นการสอบแข่งขัน เพื่อคัดเลือกบุคคลในระดับวุฒิการศึกษา และสาขาวิชาชีพที่แตกต่างกัน ที่มีความสนใจอาชีพราชการให้เข้ามาทำงานให้กับหน่วยงานราชการ การสอบ ก.พ. จึงเปรียบเสมือนตัวกลางระหว่าง “ผู้ที่ต้องการทำงานราชการ” กับ “หน่วยงานราชการที่อาจขาดแคลนกำลังคน” นั่นเอง 

ในแต่ละปี มีผู้สนใจเข้าสมัครสอบ ก.พ. จำนวน 5 – 6 แสนคนต่อปี โดยเปิดรับสมัครที่นั่งสอบประมาณ 800,000 ที่นั่ง โดยคนไทยหลายคนอยากทำอาชีพข้าราชการ เพราะเห็นว่าสวัสดิการข้าราชการต่างๆ ตอบโจทย์ตนเองได้ แต่ทั้งนี้มีผู้สอบผ่าน ภาค ก เพียงปีละ 2-3% เท่านั้น 

2. สอบ ก.พ. ผ่านแล้ว “สมัครงาน” อะไรได้บ้าง?

โดยทั่วไปการสอบ ก.พ. จะต้องสอบทั้งหมด 3 รอบคือ ภาค ก , ภาค ข, ภาค ค เมื่อสามารถสอบผ่านแล้ว ก็สามารถนำผลสอบไปใช้ในการสมัครงานในหน่วยงานราชการต่างๆ ได้หลากหลายตำแหน่ง ตัวอย่างเช่น

  • นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ
  • นักทรัพยากรบุคคลปฏิบัติการ
  • นักวิชาการตรวจสอบภายในปฏิบัติการ
  • พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ 
  • เภสัชกรปฏิบัติการ 
  • นักวิเทศสัมพันธ์ปฏิบัติการ
  • นักวิชาการเงินและบัญชีปฏิบัติการ 
  • นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ

ทั้งนี้ คุณสมบัติและอายุของผู้เข้าสอบ ก.พ. ที่ผู้อยากเข้าร่วมสอบต้องผ่านเกณฑ์เหล่านี้ ได้แก่ 

  • มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี (ไม่กำหนดอายุสูงสุด)
  • มีสัญชาติไทย
  • ต้องเป็นผู้ที่จบการศึกษาแล้ว หรือผู้ที่กำลังศึกษาชั้นปีสุดท้ายของระดับ ปวช. ปวท. ปวส. อนุปริญญา ปริญญาตรี หรือปริญญาโท
  • ผู้สมัครสอบต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

3. “สอบ ก.พ.” ภาค ก สอบวิชาอะไรบ้าง?

การสอบ ก.พ. ภาค ก คือ การสอบวัดความรู้ ความสามารถทั่วไป ที่มีการจัดสอบเป็นประจำในทุกปี โดยก่อนจะไปสมัครงานราชการได้นั้น ต้องสอบด่านแรกนี้ให้ผ่านก่อน จึงจะไปสอบขั้นต่อไปได้ โดย ภาค ก จะแบ่งออกเป็น 3 วิชา ได้แก่

  • วิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ได้แก่ การคิดวิเคราะห์เชิงภาษา, การคิดวิเคราะห์เชิงนามธรรม และการคิดวิเคราะห์เชิงปริมาณ โดยจะเป็นข้อสอบจำนวน 50 ข้อ 100 คะแนน
  • วิชาภาษาอังกฤษ วัดทักษะด้านต่าง ๆ ของภาษาอังกฤษในระดับเบื้องต้น ได้แก่ การพูด การเขียน การอ่าน และการฟังภาษาอังกฤษ ข้อสอบจำนวน 25 ข้อ 50 คะแนน
  • วิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี ทดสอบความรู้พื้นฐานของการเป็นข้าราชการที่ดี ข้อสอบจำนวน 25 ข้อ 50 คะแนน เช่น ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน, หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี, วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง, หน้าที่และความรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ 

4. “สอบ ก.พ.” ภาค ข สอบอะไรบ้าง?

สำหรับการสอบภาค ข เป็นการสอบวัดความรู้ ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง โดยผู้สมัครสอบจะต้องนำหนังสือรับรองการสอบผ่านภาค ก มายืนยันก่อน จึงจะสามารถสมัครสอบในภาค ข ได้ 

ส่วนเนื้อหาที่ใช้ในการสอบ คือ เน้นใช้ความรู้และความสามารถเฉพาะตำแหน่ง ผู้จัดสอบ ก.พ. ในภาคนี้จะเป็นหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เปิดรับสมัครเป็นหน่วยๆ ไป ซึ่งการสอบภาค ข จะมีการเปิดสอบสำหรับหลายตำแหน่ง โดยตำแหน่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่

  • นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ
  • นักวิชาการเงินและบัญชีปฏิบัติการ
  • นิติกร
  • เจ้าพนักงานสาธารณสุขปฏิบัติงาน เป็นต้น

5. “สอบ ก.พ.” ภาค ค สอบอะไรบ้าง?

เมื่อผู้เข้าสอบได้สอบผ่านทั้งภาค ก. และภาค ข. แล้ว ขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการสอบคัดเลือก “ข้าราชการ” คือ “การสอบสัมภาษณ์” โดยจะมีผู้สัมภาษณ์จากหน่วยงานต้นสังกัดนั้นๆ มาร่วมทำการทดสอบ  นอกจากนี้อาจมีการทดสอบเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น ทดสอบร่างกาย  หรือทดสอบจิตวิทยา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การจะทำข้อสอบให้ผ่านฉลุยตั้งแต่ครั้งแรกนั้น (โดยเฉพาะภาค ก) มีคำแนะนำว่าผู้สมัครสอบควรศึกษาข้อรายละเอียดข้อสอบ เพื่อให้ทราบเนื้อหาของข้อสอบ และจำนวนข้ออย่างชัดเจน ทำให้อ่านเนื้อหาสำคัญได้อย่างตรงจุด ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการทำข้อสอบแต่ละข้อได้

อีกทั้งควรฝึกทำข้อสอบเก่า พร้อมจับเวลาเหมือนสอบจริง เพื่อช่วยสร้างความคุ้นเคยกับข้อสอบ เมื่อลงสนามจริงจะได้ไม่ตื่นเต้น และช่วยลดความกังวลได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *