วิธีเตรียมสอบ ก.พ.66 เช็กสิ่งที่ใช้ในห้องสอบ และข้อห้ามที่ต้องรู้

สมัครสอบ ก.พ.

วันนี้ (14 มิถุนายน 2566) เป็นวันที่ สำนักงาน ก.พ. ประกาศสนามสอบหรือ “ศูนย์สอบ ก.พ.” ทั่วประเทศ ใครที่สมัครสอบ ก.พ. ของปีนี้ไว้อย่าลืมมาเช็กข้อมูลสนามสอบให้ดี รวมถึงเข้าระบบเพื่อ “พิมพ์บัตรประจำตัวสอบ” ให้เรียบร้อย โดยสามารถปริ๊นบัตรแบบสีหรือขาวดำก็ได้ เข้าไปที่ลิงก์ ocsc7.thaijobjob.com แล้วตรวจสอบชื่อ-นามสกุลให้ถูกต้อง เช็กรูปถ่ายว่ามีความคมชัด จากนั้นพิมพ์บัตรออกมาได้เลย

  • ก่อนจะถึงวันสอบ ก.พ. เช็กสิ่งที่ต้องเตรียมเข้าห้องสอบ

สำหรับสิ่งที่ต้องเตรียมเพื่อใช้ในการสอบ ก.พ.66 ในวันสอบจริง วันที่ 2 กรกฎาคม 2566 ได้แก่ อุปกรณ์และเอกสารสำคัญ ดังนี้

1. บัตรประจําตัวประชาชน หรือบัตรประจําตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีรูปถ่าย ลายมือชื่อ และเลขประจําตัวประชาชน 13 หลัก (สํานักงาน ก.พ. จะไม่อนุญาตให้ใช้ใบแจ้งความ สําเนาบัตรหรือบัตร อื่นๆ เช่น ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง เป็นต้น)

2. ปากกา ยางลบ ดินสอที่มีความดําเท่ากับ 2B หรือมากกว่า

3. กระเป๋าเงิน

  • สิ่งต้องห้ามและข้อห้ามในห้องสอบที่ต้องรู้

สำนักงาน ก.พ. มีข้อกำหนดเกี่ยวกับสิ่งที่ห้ามนําเข้าห้องสอบโดยเด็ดขาด หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าผู้ใดนําเข้ามาในห้องสอบ จะถือว่ามีเจตนากระทําการทุจริตในการสอบ และต้องยุติการสอบทันที ได้แก่

1. เครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ (มือถือ) วิทยุติดตามตัว วิทยุสื่อสาร เป็นต้น

2. เครื่องคํานวณ อุปกรณ์ที่ใช้คํานวณได้

3. เครื่องบันทึกภาพ เครื่องบันทึกเสียง

4. เอกสาร ตํารา

5. กระเป๋าต่างๆ กระเป๋าสะพายสุภาพสตรี

  • ผู้เข้าสอบสามารถ “ยุติการทำข้อสอบ” กรณีใดบ้าง ? 

หากพบว่าผู้ใดไม่มีบัตรประจําตัวประชาชน หรือไม่มีบัตรประจําตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพบว่าผู้ใดมีสิ่งที่ห้ามนําเข้าห้องสอบในระหว่างดําเนินการสอบ ผู้นั้นจะต้องยุติการทําตอบทันที และจะออกจากห้องสอบได้เมื่อหมดเวลาทําข้อสอบ รวมทั้งจะไม่ตรวจให้คะแนนสําหรับบุคคลผู้นั้น

  • เช็กระเบียบและกฎข้อบังคับต่างๆ ก่อนเข้าสอบ ก.พ.66

1. แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยตามประเพณีนิยม และประพฤติตนเป็นสุภาพชน ห้ามสวมกางเกงขาสั้น เสื้อไม่มีแขน รองเท้าแตะฟองน้ํา

2. ควรไปถึงสถานที่สอบก่อนเวลาสอบไม่น้อยกว่า 40 นาที แต่จะเข้าห้องสอบได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากรรมการหรือเจ้าหน้าที่คุมสอบเท่านั้น

3. ผู้สมัครสอบที่ไปถึงห้องสอบหลังจากที่ได้เริ่มสอบไปแล้ว 30 นาที จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบ

4. ต้องนั่งสอบตามที่นั่งสอบ ห้องสอบ และสถานที่สอบ ที่สํานักงาน ก.พ. กําหนดให้ หากผู้ใดนั่งสอบผิดสถานที่สอบ จะไม่ได้รับการตรวจกระดาษคําตอบ

5. ต้องนั่งอยู่ในห้องสอบจนหมดเวลาทําตอบ

6. ห้ามคัดลอกข้อสอบ หรือนําแบบทดสอบ และกระดาษคําตอบออกจากห้องสอบโดยเด็ดขาด

7. เชื่อฟังและปฏิบัติตามคําสั่งและคําแนะนําของหัวหน้าห้องสอบ หรือเจ้าหน้าที่คุมสอบโดยเคร่งครัด

8. เมื่อหมดเวลาทําข้อสอบ หัวหน้าห้องสอบหรือเจ้าหน้าที่คุมสอบ จะสั่งให้หยุดทํา ซึ่งผู้เข้าสอบจะต้องหยุดทันที และจะออกจากห้องสอบได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่คุมสอบอนุญาต

  • วิธีเตรียมตัวสอบให้พร้อม สอบรอบเดียวผ่านฉลุย

มีข้อมูลจาก “สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)” ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการเตรียมตัวสอบไว้ว่า ผู้เข้าสอบควรเริ่มอ่านหนังสือเตรียมสอบอย่างจริงจังอย่างน้อย 3 เดือนก่อนสอบ ทั้งนี้เวลาอ่านหนังสือจะน้อยหรือมาก ขึ้นอยู่กับเวลาว่างของแต่ละคน แต่ก็ควรเตรียมพร้อมให้ได้มากที่สุด

สำหรับเทคนิคการอ่านหนังสือเพื่อ “สอบ ก.พ. 66” จะต้องพยายามโฟกัสเนื้อหาให้ดี เพราะการที่จะทำความเข้าใจเนื้อหาอะไรเยอะๆ นั้น ต้องใช้เวลาและความสม่ำเสมอ โดยให้ค่อยๆ อ่านไปให้จบทีละวิชา อย่าอ่านสลับกันไปมา เพื่อให้ได้รับความรู้วิชานั้นๆ ได้เต็มที่ อาจจะเริ่มอ่านจากวิชาสำคัญหรือยากๆ ก่อน แล้วช่วงก่อนสอบจะได้มีเวลามาทบทวนซ้ำอีกที ส่วนวิชาง่ายๆ อาจจะไม่ต้องเผื่อเวลาทบทวนก่อนสอบมากนัก

นอกจากการอ่านหนังสือเตรียมสอบแล้ว ก็ควรแบ่งเวลามาฝึกทำข้อสอบ ก.พ. ของปีก่อนๆ ด้วย การฝึกทำข้อสอบเก่าหลายๆ ชุด จะช่วยให้เราได้ตรวจและเห็นคำตอบตัวเองว่าผิดพลาดตรงไหน และสามารถเน้นการทบทวนเนื้อหาส่วนนั้นๆ ได้อย่างตรงจุดมากขึ้น 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *